วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2562

การหาหุ้นจาก หุ้น IPO

หุ้น IPO มักเป็นหุ้นที่นักลงทุนหลาย ๆ คนอยากได้  แต่ส่วนใหญ่โบรกเกอร์ที่เป็นตัวแทนเสนอขายหุ้น IPO ตัวนั้นๆ มักจะเสนอขายให้กับผู้ที่มีการเทรดหุ้นเป็นประจำและมีมูลค่าสูงหรือเรียกว่าเป็นผู้มีอุปการะคุณกับทางโบรกเกอร์  (โบรกเกอร์ได้ค่าคอมจากการเทรดเป็นจำนวนมาก)    ทำให้นักลงทุนรายย่อยถ้าสนใจจะไปซื้อหุ้นเหล่านั้นต้องไปซื้อในกระดานปกติหลังจากหุ้นตัวนั้นได้เข้ามาขาย ซึ่งราคาก็มักจะสวิงขึ้นไปสูงมากในช่วงแรก



แล้วเราจะซื้อหุ้นที่เพิ่งเข้าตลาดตอนไหนดี ?  ซึ่งจากที่ผมติดตามและดูสถิติที่ผ่านมาพบว่าเราควรจะซื้อหุ้นเหล่านั้นเมื่อเข้าตลาดไปแล้ว 2-3 ปี เพราะหุ้น IPO ที่เข้าตลาดราคาหุ้นก็แทบจะเต็มมูลค่าอยู่แล้ว  และหลังจากเข้าตลาดมานักเก็งกำไรก็มักจะเข้ามาไล่ซื้อจนราคาขึ้นไปสูงมากจน PE ทะลุ 40-50 เท่าหรือไปถึง 100 เท่าก็มี   ถ้าหุ้นตัวนั้นสามารถทำกำไรได้จริงราคาก็อาจยังเพิ่มขึ้นไปได้เรื่อยๆ เพราะผู้บริหารก็มักจะวาดฝันโครงการต่างๆ ให้นักลงทุนหรือนักเก็งกำไรเป็นระยะ    แต่ถ้างบการเงินออกมาแย่เมื่อไหร่หรือโครงการต่างๆที่อ้างว่าจะทำก็ไม่เสร็จหรือทำไม่ได้ บอกเลยว่าหายนะก็จะเริ่มมาเยือน ราคาก็จะดิ่งไปเรื่อยๆ  




ส่วนรายชื่อหุ้น IPO ในแต่ละปีเราสามารถเข้าไปดูได้ที่ https://www.set.or.th/set/ipo.do  แล้วเลือกปีที่เราต้องการดู  ส่วนที่เราควรจะซื้อหุ้น ipo เมื่อเข้าตลาดผ่านไปแล้วสัก 2-3 ปี  ก็เพราะว่าเราต้องรอดูงบการเงินของกิจการให้แน่ชัดก่อน งบการเงินจะสะท้อนความจริงว่าบริษัทเหล่านั้นได้นำเงินไปทำตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ เช่น นำไปสร้างโรงงาน นำไปจ่ายเงินกู้ที่มีภาระดอกเบี้ย  นอกจากนี้หุ้นใหม่ที่เข้าตลาดก็มักจะมาออก opp day อยู่สม่ำเสมอ ทำให้เราติดตามได้ง่ายว่าบริษัทมีแผนจะเพิ่มรายได้ของบริษัทและเติบโตไปได้อย่างไร





ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีหาหุ้นอีกวิธีหนึ่งที่ผมใช้อยู่นะครับ  แต่ต้องบอกก่อนว่าหาหุ้นได้แล้วไม่ใช่ซื้อเลย  ก็ต้องประเมินด้วยว่ากิจการจะโตต่อไปอย่างไร  PE แพงเกินไปไหม  กิจการมีความเสี่ยงอะไรบ้าง  และที่สำคัญถ้าหุ้นขึ้นไปมากๆก็ต้องรออย่าตามน้ำซื้อโดยที่ราคามันไปไกลแล้ว กรณีถ้าเรามีหุ้นอยู่แล้วราคาหุ้นพุ่งเกินจากที่เราประเมินไปมากก็ทยอยขายบ้าง เพราะส่วนใหญ่หุ้นที่เพิ่งเข้าตลาด ราคามักจะเหวี่ยงแรงๆ ทั้งสูงเกินเหตุ ต่ำเกินไป  การทยอยขายบางส่วนก็ถือเป็นการล็อคกำไรและลดความเสี่ยงของพอร์ตในตัว
.
สำหรับบทความนี้ก็จบเท่านี้นะครับ หวังว่าจะพอมีประโยชน์กับนักลงทุนแบบมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆนะครับ

------------------------------------------
ช่องทาง Donate สนับสนุนผู้เขียน
True wallet : 085-918-8932
Paypal : savathirun@gmail.com

วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

EEC : โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก

EEC : Eastern Economic Corridor หรือ โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นแผนยุทธศาสตร์ต่างประเทศภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ที่ดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา 

เหตุใดเราจึงต้องให้ความสำคัญกับ EEC
สถานการณ์เศรษฐกิจภูมิภาคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านการพัฒนาประเทศ ระบบคมนาคม และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำเนิด ASEAN Economic Community (AEC) ที่มีจุดมุ่งหมายผลักดัน ASEAN ให้เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมือได้อย่างเสรี ทำให้บริษัทต่างชาติมีตัวเลือกในการตั้งฐานการผลิตและกระจายสินค้ามากขึ้น ซึ่งในระยะต่อไปความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคจะยกระดับขึ้นอีกขั้น ซึ่งไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย (East-West Economic Corridor) และเชื่อมต่อจีนตอนใต้เข้ากับภูมิภาคแหลมทอง (North-South Economic Corridor) ทำให้ไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาคและการเป็นประตูสู่เอเชียได้

อย่างไรก็ตาม EEC มองว่า เวียดนามจะผันตัวมาเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตามอง เพราะเวียดนามเป็นหนึ่งในเป้าหมายการลงทุนจากต่างชาติที่มีความโดดเด่น ด้วยข้อได้เปรียบด้านแรงงานจำนวนมากที่อายุยังน้อยและค่าแรงต่ำ ตำแหน่งที่ตั้งที่ติดกับจีนและเป็นประตูสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ตลาดผู้บริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่อง และนโยบายประเทศที่ชัดเจนในการก้าวขึ้นเป็น โรงงานและ ซิลิคอนวัลเลย์ของเอเชีย ในขณะที่ตัวขับเคลื่อนสำคัญของไทยอย่าง Eastern Seaboard กำลังหมดไฟ และอุตสาหกรรมที่ไทยมีความเชี่ยวชาญกำลังตกยุค ส่งผลให้ในปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติพิจารณาย้ายฐานการผลิตจากไทยไปยังเวียดนามแล้ว หนึ่งในนั้นได้แก่ Samsung Electronics Limited LG Electronics และ Daikin Industries Limited ดังนั้น หากไทยไม่เร่งพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศตั้งแต่วันนี้ มีความเป็นไปได้ว่าเวียดนามจะสามารถแซงหน้าไทยด้วยมูลค่า GDP ที่สูงกว่าในปี 2050
นอกจากนี้ ผลการประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันโดย IMD พบว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับค่อนข้างดีที่ 28 จาก 61 ประเทศ แต่หากพิจารณาในตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมจะพบว่าไทยทำคะแนนได้ค่อนข้างต่ำ ในด้านผลิตภาพ (อันดับที่ 43) โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ (อันดับที่ 47) และเทคโนโลยี (อันดับที่ 42) ซึ่งรายงาน Global Competitiveness Index 2016-2017 ของ World Economic Forum ให้ผลการประเมินในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ศักยภาพในการคิดค้นนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และแรงงานทักษะมีการพัฒนาช้า เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเดียวกัน และยังคงเป็นปัญหาหลักในการทำธุรกิจในไทยอีกด้วย ดังนั้น เพื่อทำให้ไทยกลับมามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง EEC จึงเป็นโครงการสำคัญที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทย 
         


เป้าหมายและมาตรการส่งเสริม EEC ของรัฐบาลมีอะไรบ้าง?
โครงการ EEC มีเป้าหมายยกระดับพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้กลายเป็น “World-Class Economic Zone” รองรับการลงทุนอุตสาหกรรม Super Cluster และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีก 20 ปีข้างหน้า แทนที่ Eastern Seaboard เดิม โดยคาดการณ์ว่าการลงทุนใน EEC จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยราว 5% ต่อปี สร้างการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ 100,000 อัตราต่อปี สร้างฐานภาษีใหม่ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคนต่อปี และสร้างฐานรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 4.5 แสนล้านบาทต่อปี



การลงทุนในระยะ 5 ปีแรก (2017-2020) 
เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้กรอบการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชนวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา ซึ่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมนับเป็นสัดส่วนใหญ่ของงบลงทุนทั้งหมด เพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มการเชื่อมต่อภายในประเทศและภูมิภาคมากขึ้นทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ของเอเชียในอนาคต ประกอบด้วย การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ การก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง การก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง การก่อสร้างท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังทุ่มเงินลงทุนมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาทเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และอีก 2 แสนล้านบาทเพื่อพัฒนาด้านการท่องเที่ยว พร้อมกันนี้ เมืองใหม่ 4 แห่ง ได้แก่ ฉะเชิงเทรา พัทยา อู่ตะเภา และ ระยอง จะได้รับการพัฒนาเพื่อเอื้อต่อภาคธุรกิจ เป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนา และกระจายความแออัดจากกรุงเทพฯ ในการนี้ รัฐบาลได้ร่างพ.ร.บ. พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกขึ้น เพื่อเร่งและสนับสนุนการดำเนินโครงการ EEC ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนปรับปรุงเพิ่มเติม รวมทั้งแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และร่าง พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถฯ เพื่อเร่งการลงทุนจากต่างชาติและภาคเอกชนในพื้นที่ EEC ด้วยสิทธิประโยชน์การลงทุน ถึง 3 ด้าน คือ

1) สิทธิประโยชน์แบบ Tailor Made สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย การแพทย์ครบวงจร ปิโตรเคมี อากาศยาน และเขตนวัตกรรมเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECI) ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ตามร่างพ.ร.บ. 2 ฉบับ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดไม่เกิน 15 ปี หรือสิทธิประโยชน์อื่นมากที่สุดเท่าที่ พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับจะให้ได้
2) เครื่องมือสนับสนุน-ส่งเสริม-อำนวยความสะดวกในการลงทุนแบบครบวงจร 
3) การให้บริการ One Stop Service นอกจากนี้ การลงทุนในพื้นที่ EEC จะได้รับสิทธิประโยชน์ เพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ของอัตราปกติเป็นระยะเวลาอีก 5 ปี สำหรับ 5 กิจการ คือ กิจการโครงสร้างพื้นฐาน กิจการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC กิจการที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและพัฒนา และเทคโนโลยีชีวภาพ กิจการบริการที่มีมูลค่าสูง (High Value Services) และกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมที่ยังมีผู้ประกอบการน้อยราย 



ท่าทีของนักลงทุนชาวต่างชาติต่อการลงทุนใน EEC เป็นอย่างไร?
มาตรการส่งเสริมการลงทุนในครั้งนี้ดึงดูดความสนใจของบริษัทต่างชาติได้เป็นอย่างมาก รัฐบาลคาดว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนได้มากกว่า 1.9 ล้านล้านบาทจากภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมในกลุ่ม ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิตอล และอากาศยาน โดยที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่าง โตโยต้า นิสสัน และ BMW ต่างแสดงความสนใจในการลงทุนเพิ่ม อย่างไรก็ตาม บริษัทยังรอความชัดเจนของนโยบายการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ในประเทศที่กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

ในส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท ซูมิโตโม่ อิเล็กทรอนิกส์ วินเทค (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักรกล และหุ่นยนต์และเครื่องมือกลระบบอัตโนมัติ กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นมีความมั่นใจและมีแผนการลงทุนเพิ่มในไทยมากขึ้น โดยทางบริษัทเตรียมจัดตั้งสาขาและศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ (Technical Learning Academy) ในพื้นที่ EEC ด้วยงบลงทุน 150-200 ล้านบาท

นอกจากนี้ อาลีบาบา บริษัท e-Commerce ยักษ์ใหญ่จากจีน ได้ลงนามในข้อตกลงกับรัฐบาลไทยหลายฉบับในเดือนธันวาคมปี 2017 เพื่อสร้างฮับ e-Commerce และโลจิสติกส์ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2019 ซึ่งการลงทุนในพื้นที่ EEC นี้เป็นการก้าวเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียนพร้อมทั้งช่วยกระจายความรู้ด้าน e-Commerce และโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการไทยอีกด้วย  และเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2018 การบินไทยได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับแอร์บัสในข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (TG MRO Complex Development) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยผู้บริหารแอร์บัสตัดสินใจเลือกไทยเป็นหนึ่งในศูนย์ซ่อม MRO ด้วยความเหมาะสมเรื่องที่ตั้งและความเชื่อมั่นที่มีต่อนโยบายเศรษฐกิจไทย 


วันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

การประเมินมูลค่าหุ้นแบบง่าย ๆ โดยใช้ PE และ EPS

การลงทุนในหุ้นมีหลากหลายรูปแบบและหลากหลายวิธี 1 ในนั้นก็คือ VI การลงทุนแบบ VI ถ้าให้คำนิยามสั้น ๆ ก็คือการซื้อหุ้นบนราคาพื้นฐาน ซึ่งคำว่าพื้นฐานแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันแม้กระทั่งเซียนหุ้นรุ่นใหญ่ก็มีลงทุนแนว VI ในรูปแบบที่แตกต่างกัน บางคนดูพื้นฐานในอดีตจนถึงปัจจุบัน บางคนดูพื้นฐานและการเติบโตในอนาคต สุดท้ายแล้วมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือ EPS โดยมี PE เป็นตัวกำหนดราคา บทความนี้จะแนะแนวทางประเมินเรื่องหุ้นเติบโตแบบคร่าว ๆ นะครับ

EPS คือกำไรต่อหุ้น หรือผลการดำเนินงานในแต่ละปีหารด้วยจำนวนหุ้น บริษัทที่มีผลการดำเนินงานดีและสม่ำเสมอ ไม่ค่อยเพิ่มทุน EPS ก็มักจะโตตามไปด้วย การประเมิน EPS ต้องประเมินทั้งปีเนื่องจากมีหลายบริษัทที่สินค้าขายดีเป็นฤดูกาล ทำให้บางไตรมาศกำไรต่อหุ้นลดลงหรือบางไตรมาศกำไรต่อหุ้นสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาศก่อนหน้า การเปรียบเทียบรายไตรมาศควรเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
PE คือ ราคาหุ้นหารด้วยกำไรต่อหุ้น (กำไรต่อหุ้นในนี้คือ ผลรวมของกำไรต่อหุ้นแต่ละไตรมาศย้อนหลัง 4 ไตรมาศ) PE มักนำมาใช้ในการประเมินหุ้นว่าถูกหรือแพง ยิ่งหุ้นที่มีคนให้ความสนใจสูงมักจะมีราคาที่สูง PE ก็จะสูงตามไปด้วย

>> การประเมินมูลค่าหุ้นเติบโตโดยใช้ EPS และ PE
โจทย์ : สมมุติว่ามีหุ้นชื่อว่า asdf มีผลการดำเนินงานที่ดีสม่ำเสมอ มีรายได้ทั้งปี 2559 อยู่ที่ 5,000 ล้านบาท มีกำไรอยู่ที่ 300 ล้านบาท มีหุ้นในบริษัททั้งสิ้น 150 ล้านหุ้น ราคาซื้อขายอยู่ที่ 26 บาท เท่ากับหุ้นตัวนี้มี EPS ของปี 2559 อยู่ที่ 2 บาท และมี PE อยู่ที่ 13 และเมื่อดูข้อมูลย้อนหลังก็พบว่าหุ้นตัวนี้มีค่า PE เฉลี่ยอยู่ที่ 13 PE ต่ำสุดอยู่ที่ 8 PE สูงสุดอยู่ที่ 17 และมีอัตรากำไรต่อรายได้อยู่ที่ประมาณ 5-6 %
แนวโน้มการเติบโต : ใน opp day และ การประชุมผู้ถือหุ้น ทางผู้บริหารบริษัท asdf แจ้งว่าปัจจุบันกำลังขยายสินค้าไปประเทศอาเซียนโดยมีผลการตอบรับที่น่าพอใจ และปัจจุบันกำลังก่อสร้างโรงงานใหม่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2560 โดยโรงงานใหม่แห่งนี้จะได้รับสิทธิทางภาษี BOI ในเดือนเมษายน 2560 ทั้งนี้คาดว่าบริษัทจะมีรายได้ปี 2560 อยู่ที่ 7,500 ล้านบาท และจะยังไม่มีการเพิ่มทุนในช่วง 1-2 ปีนี้แต่อย่างใด
การประเมินเบื้องต้น : หากเป็นไปตามที่ผู้บริหารของ asdf ได้กล่าวไว้คือมีรายได้ 7,500 ล้านบาท เราอาจลบไปเล็กน้อยเผื่อในเรื่องสภาวะเศรษฐกิจที่อาจไม่เป็นใจ โดยปรับเป็นเป้ารายได้อยู่ที่ 7,000 ล้านบาท และที่ผ่านมาบริษัทนี้มีกำไรต่อรายได้อยู่ที่ 5-6 % เราก็ประเมินที่ต่ำไว้ก่อนคือ 5% ทำให้เราประเมินว่าบริษัทแห่งนี้จะมีกไร 350 ล้านบาทและมี EPS ของปี 2560 อยู่ที่ 2.33 บาท ซึ่งหมายความว่าหากค่า PE ยังเท่าเดิมคือ 13 ราคาหุ้น ณ ปลายปี 2560 (งบปีออกแล้ว) จะเท่ากับ 30 บาท หรือถ้า PE ต่ำสุดตามสถิติเดิมที่ 8 ราคาจะอยู่ที่ 18.60 และถ้าหาก PE สูงสุดตามสถิติเดิมที่ 17 ราคาหุ้นจะอยู่ที่ 39.50 บาท

ลองดูภาพประกอบนะครับ เป็นหุ้นบางตัวที่ผมประเมินราคาไว้และเฝ้าติดตามสม่ำเสมอ ยังไงก็ลองไปปรับใช้กันดูนะครับ โดยเฉพาะใช้คู่กับวิธีปรับพอร์ตของคุณโยโย่ที่ผมเคยแชร์ไปก่อนหน้านี้

ปล.ขอไม่เปิดเผยชื่อหุ้นนะครับ และ ราคาหุ้นไม่ใช่ราคาล่าสุดนะครับ เป็นราคาหลายวันที่แล้ว
ปล.2 ข้อมูลแนวโน้มรายได้เราอาจดูจากบทวิเคราะห์จากโบรคเกอร์ประกอบ แต่ห้ามเชื่อราคาเป้าหมาย หรือ PE ที่เค้าประเมินมา ให้เราประเมินด้วยตนเองเป็นดีที่สุด (แต่ถ้าหุ้นที่ market cap เล็ก ก็ไม่มีบทวิเคราะห์นะ)

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ลักษณะหุ้นที่ผมชอบและอยากมีไว้ในพอร์ต

การเลือกหุ้นก็เหมือนการเลือกคบแฟนที่เราจะต้องมีสเปคในใจ  ซึ่งผมเองก็มีสเปคหุ้นในดวงใจเหมือนกัน โดยหุ้นเหล่านั้นจะต้องมีสิ่งเหล่านี้

1.รายได้เพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ 
รายได้สำคัญกว่ากำไร เพราะบางครั้งกำไรที่เพิ่มอาจมาจากรายได้พิเศษชั่วครั้งชั่วคราว หรือกำไรที่ที่ลดมาจากการลงทุนใหม่ การซื้อเครื่องจักร ฯลฯ แต่รายได้มาจากการขายสินค้าหรือการบริการให้ลูกค้าโดยตรง ซึ่งอนุมานได้ว่าขายได้มากขึ้น กิจการมีการขยายตัว


2.ปันผลเป็นเงินสด 
โดยส่วนตัวผมไม่ชอบหุ้นที่ปันผลเป็นหุ้นเลย เพราะการได้รับเงินปันผลเปรียบเสมือเราได้ดอกเบี้ยจากการถือหุ้นตัวนั้น ซึ่งเราจะเอาเงินปันผลที่ได้ไปใช้จ่าย หรือไปซื้อหุ้นตัวเดิมเพิ่มเติมก็ได้ แต่การปันผลเป็นหุ้นเราจะได้เพียงแค่จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นแต่ราคาหุ้นก็ไดรูทลงมาตามสัดส่วน แถมเจ้าของบริษัทก็ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทนเราจากกรณีปันผลเป็นหุ้นให้เราอีก (เหมือนบริษัทเสียเงินไปฟรี)



3.ไม่เพิ่มทุนโดยไม่จำเป็น 
หุ้นตัวไหนเพิ่มทุนบ่อยๆผมแทบไม่มองเลย แต่ถ้านาน ๆ เพิ่มทุนที และการเพิ่มทุนมีโอกาสทำให้กิจการเติบโตผมก็ถือว่าโอเค

4. ราคาหุ้นไม่สูงมากหรือราคาต่ำ ๆ (ไม่เกี่ยวกับหุ้นถูกหรือแพง) 
ที่ชอบราคาหุ้นไม่สูงมากเพราะว่า เราสามารถแบ่งเงินเดือนหรือเงินในพอร์ตมาซื้อได้ตลอด มีเงินน้อยก็ยังซื้อได้ และที่ผมสังเกตุส่วนใหญ่เมื่อหุ้นที่มีการเติบโตและราคาต่ำ ๆ ราคาหุ้นมักจะพุ่งได้ไกลกว่าหุ้นที่ราคาสูงอยู่แล้ว (ไม่เกี่ยวกับหุ้นถูกหรือหุ้นแพงนะ) และหุ้นบางตัวเมื่อราคาพุ่งไปสูงแล้วก็มักจะแตกพาร์และมีโอกาสที่ราคาจะพุ่งได้ต่ออีกรอบ **(นักลงทุนรายย่อยชอบซื้อหุ้นราคาต่ำ ๆ เพราะอาจเข้าใจว่ามันถูก จึงทำให้ราคามันพุ่งได้เรื่อย ๆ )

5. สบายใจที่จะถือหุ้นนั้น ๆ 
การที่เราไปซื้อหุ้นบริษัทฯที่เราไม่ชอบบริษัทนั้น จะทำให้เรามีอคติในการวิเคราะห์หุ้นดังกล่าว พอมีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับบริษัทออกมาก็จะเราไขว้เขววิตกกังวลไปต่าง ๆ นานา ส่วนสาเหตุที่เราไม่ชอบก็อาจมาจาก นโยบายการค้าของบริษัท ผู้บริหาร ฯลฯ ดังนั้นหุ้นที่ผมจะซื้อต้องสบายใจในการถือระยะยาว และมั่นใจในตัวบริษัท