วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ข้อควรระวังในการซื้อหุ้นปันผล Part 3



และแล้วก็มาถึง Part 3 ซึ่งเป็น part สุดท้ายในเรื่องนี้ครับ  ส่วนตอนก่อนหน้านี้ดูได้ตามลิ้งค์ด้านล่าง
Part 1  http://salarymanstock.blogspot.com/2014/06/part-1.html


(5) หุ้นหยุดการเติบโต
ในการซื้อหุ้นเพื่อหวังปันผลโดยซื้อหุ้นในกิจการที่แข็งแกร่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่าก็ควรดูด้วยว่ากิจการเหล่านั้นยังเติบโตได้อีกหรือไม่  มีกำไรเพิ่มขึ้นหรือเปล่า  เพราะหากเราไปซื้อหุ้นในกิจการที่เติบโตช้าหรือหยุดการเติบโตเพราะบริษัทไม่สามารถขยายกิจการ หรือบริษัทไม่มีแผนลงทุนเพิ่มเติมใด ๆ ต่อไปอีก กำไรที่ได้ในแต่ละปีก็จะค่อนข้างคงที่ เงินปันผลที่ได้รับก็อาจจะได้เท่าเดิมทุก ๆ ปี   ซึ่งในระยะยาวผลตอบแทนของนักลงทุนที่ได้รับอาจจะไม่ดีเท่ากับหุ้นที่เติบโต 

(6) ปันผลเป็นหุ้น
บางครั้งเราเลือกหุ้นโดยดูแค่ตารางการจ่ายปันผลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มักจะบอกเราว่าหุ้นแต่ละตัวปันผลกี่เปอรเซ็นต์  แต่ถ้าเราดูไม่ละเอียดเราจะไปพบกับหุ้นที่ปันผลเป็นหุ้น ซึ่งในทางบัญชีอาจคำนวนบอกได้ว่าได้ปันผลกี่เปอร์เซนต์  แต่ในความเป็นจริงเราไม่ได้เงินสดใด ๆ มาเลย และถึงจะได้หุ้นเพิ่มเข้ามา ราคาของหุ้นก็มักจะ dilute ปรับใกล้เคียงกับหุ้นที่ปันผลออกมา   แถมจำนวนหุ้นก็จะยิ่งเยอะขึ้น เป็นผลให้ EPS (กำไรต่อหุ้น) ลดลงในกรณีบริษัทกำไรเท่าเดิม    
**ข้อสังเกตุ บริษัทที่ปันผลเป็นหุ้น มักจะปันผลเป็นเงินออกมาด้วยในเรทที่น้อยมาก ๆ เงินตรงนี้เราแทบจะไม่ได้เลย เพราะเงินในส่วนนี้เป็นเงินที่บริษัทออกเป็นค่าภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับหุ้นที่ปันผลออกมา



ทิ้งท้ายนะครับ อยากจะเตือนนักลงทุนทุกคนว่าไม่ว่าคุณจะเลือกหุ้นแบบไหน ตัวไหน ขอให้เลือกด้วยตัวเอง  วิเคราะห์ด้วยตัวเอง  ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ใช้สำหรับประกอบการตัดสินใจเท่านั้น  และควรบันทึกไว้ด้วยว่าท่านซื้อหุ้นตัวดังกล่าวเพราะเหตุผลใด เพื่อประโยชน์ในตอนขายหุ้นนั้นออกไป

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ข้อควรระวังในการซื้อหุ้นปันผล Part 2



หลังจากจบ part 1 ไปแล้ว http://salarymanstock.blogspot.com/2014/06/part-1.html
ก็ขอเขียนถึง part 2 ต่อเลยนะครับ

(3) ดูเฉพาะตัวเลขปันผลเป็นเปอร์เซ็นต์
หลายคนที่เลือกหุ้นปันผล วิธีหาหุ้นอันดับแรก ๆ มักจะไปหาข้อมูลหุ้นจากสื่อต่าง ๆ อาทิ www.siamchart.com  (เวบไซต์นี้แนะนำไว้ดูข้อมูลครับ แถมฟรีด้วย) แต่มักจะดูคร่าว ๆ เพียงแค่ว่าหุ้นตัวนี้ให้ปันผลกี่เปอร์เซ็นต์ และพอเห็นว่ามีตัวเลขที่สูง เช่น 5% ขึ้นไป  ก็จะซื้อหุ้นนั้นในทันที เพราะเข้าใจได้ว่าปีต่อ ๆ ไปก็จะได้รับเงินปันผลในอัตราที่ใกล้เคียงกัน  ซึ่งข้อนี้นักลงทุนมักจะลืมคิดไปว่าเปอร์เซ็นต์ที่เห็นมาจากการคำนวนราคาซื้อหุ้นที่เท่าไหร่ ตัวเลขที่ได้มาแต่ละสื่อมีวิธีการคำนวนอย่างไร

เช่น หุ้น OX เมื่อปี 56 อาจซื้อขายกันที่ราคา 100 บาทและจ่ายปันผลออกมา 5 บาท สื่อก็คำนวณว่าปี 56 จ่ายปันผลที่ 5%   ต่อมาปี 57 คุณมาหาข้อมูลหุ้นปันผล และคุณมองเพียงแค่ว่าหุ้นตัวนี้ให้ปันผล 5 % คุณก็รีบไปซื้อหุ้น OX ทันทีที่ราคา 150 บาทโดยไม่ได้ดูข้อมูลว่าเปอร์เซ็นต์ปันผลที่ได้รับนั้นมากจากการคิดคำนวนราคาหุ้นที่ราคาเท่าไหร่  ซึ่งราคาที่คุณซื้อไป 150 บาทนั้นหากปี 57 บริษัทยังจ่ายปันผลที่ 5 บาทเท่าเดิม จะเท่ากับว่าคุณได้เงินปันผลเท่ากับ 3.33%

(4) เข้าใจว่าหุ้นปันผล เป็นเสือนอนกิน ไม่จำเป็นต้องติดตามผลการดำเนินงาน มีเซียนหุ้นถือ !!
ข้อนี้ขอรวมหลาย ๆ อย่างไว้ด้วยกันเลยนะครับ กล่าวคือในปัจจุบันนักลงทุนหน้าใหม่ มักจะหาซื้อหนังสือสอนการลงทุนในหุ้นมาอ่าน ซึ่งบางครั้งเนื้อหาในเล่มก็ไม่ได้เป็นปัจจุบันอาจจะเป็นข้อมูลเมื่อ 5-10 ปีมาแล้ว  ทำให้มีนักลงทุนบางส่วนเข้าใจว่า หุ้นเหล่านั้นยังคงแข็งแกร่ง ยังคงจ่ายเงินปันผล ฯลฯ  จนละเลยในการติดตามอ่านงบการเงินหรือวิเคราะห์กิจการอยู่สม่ำเสมอ



ยกตัวอย่างเช่น หุ้น SEEK  (ชื่อสมมุตินะครับ ^^)  เคยเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด ผูกขาดการจัดจำหน่ายไว้ในมือ มีอำนาจต่อรองมาก มีเซียนหุ้นคนดังถือหุ้นตัวนี้อยู่และถือมานานมาก แต่แล้วสองปีที่ผ่านมายอดขายเริ่มลดลงจากการคุกคามเข้ามาของเทคโนโลยีต่าง ๆ และจากที่เคยปันผลทุกไตรมาศก็มีประกาศงดจ่าย ยอดขาย,รายได้และกำไรเริ่มตกลงทุกไตรมาศ



จากที่ผมยกตัวอย่างไปถ้าเป็นนักลงทุนหน้าใหม่แค่เจอประกาศงดจ่ายปันผลก็คงขายทิ้งกันแต่แรกที่ประกาศเลยทีเดียว (ซึ่งทำให้ราคาหุ้นตกมาอย่างมาก) แต่ก่อนจะขายหุ้นนี้ทิ้งอยากให้นักลงทุนทุกท่านวิเคราะห์ถึงปัญหาก่อน จากหุ้น SEEK ที่ยกตัวอย่างหลังจากอ่านงบการเงินและข่าวสารที่เกี่ยวข้องแล้วจะพบว่า ยอดขายลดลงมาจากลูกค้าซื้อสินค้าน้อยลงเพราะมีสินค้าทดแทนซึ่งเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ส่วนปันผลที่งดจ่ายเพราะบริษัทต้องนำเงินไปสร้างคลังสินค้าแห่งใหม่  ถึงตรงนี้นักลงทุนก็จะเริ่มพิจารณาได้เองว่าธุรกิจนี้ยังสามารถกลับมาได้ไหม ทางบริษัทมีมาตรการรองรับหรือมีสินค้าใหม่ ๆ มาทดแทนรายได้หรือไม่ จะรอผลประกอบการอีกสักไตรมาศหรือครึ่งปีแล้วค่อยพิจารณาขาย หรือขายหุ้นตอนนี้ดี ส่วนประเด็นที่เซียนหุ้นยังถือหุ้นตัวนี้อยู่หรือไม่นั้นไม่ควรนำมาคิดพิจารณาร่วมด้วยเลย เพราะเซียนหุ้นท่านนั้นอาจจะซื้อหุ้นตั้งแต่ราคาต่ำมาก ๆ และปัจจุบันก็ได้เงินปันผลคุ้มต้นทุนหุ้นตัวนั้นไปแล้ว ดังนั้นถ้าเค้าจะถือต่อหรือขายทิ้งก็ไม่แปลกอะไร

ดังนั้นจึงขอสรุปจากข้อ (4) ว่า หุ้นที่ปันผลดีและสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นว่าจะปันผลดีได้ตลอดไป และถ้าหุ้นตัวนั้นอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมตะวันตกดินยิ่งมีโอกาสที่ผลประกอบการจะไม่ดีเหมือนก่อนจึงเป็นสาเหตุให้งดจ่ายปันผล และที่สำคัญอย่าซื้อตามเซียนควรวิเคราะห์ด้วยตนเองเสมอ (เพราะตอนเซียนขายหุ้นเค้าคงไม่โทรมาบอกคุณแน่นอน)


และก็ขอจบ Part 2 ไว้เพียงเท่านี้ครับ Part หน้าจบแน่อนครับ
 

วันอังคารที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ข้อควรระวังในการซื้อหุ้นปันผล Part 1



หลายคนที่ลงทุนในหุ้นมักจะเฟ้นหาหุ้นที่จ่ายปันผลดีและจ่ายในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร แต่ในหุ้นปันผลเองก็มีสิ่งที่ต้องระวังก่อนจะทำการลงทุนในหุ้นนั้น ๆ  ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนควรต้องใส่ใจหรือวิเคราะห์ได้แก่

(1) พื้นฐานของกิจการ
ในการลงทุนหุ้นไม่ว่าจะวิธีไหนก็ตาม ข้อนี้คือสิ่งที่ต้องศึกษาทุกครั้งทั้งก่อนซื้อหุ้นและหลังซื้อหุ้นไปแล้วก็ตาม  เพราะการศึกษาพื้นฐานของกิจการจะทำให้เราทราบได้ว่ารายได้ต่าง ๆ ของบริษัทเป็นอย่างไร มีแนวโน้มอย่างไร เพราะถ้าพื้นฐานกิจการไม่ดีไม่มั่นคง ก็อาจทำให้บริษัทกำไรลดลงซึ่งเป็นเหตุให้การจ่ายเงินปันผลน้อยลงหรืองดจ่ายเงินปันผลออกมา   นักลงทุนสามารถศึกษากิจกการและติดตามผลการดำเนินงานได้โย การอ่านรายงานประจำปี และงบการเงินทุกไตรมาศ ซึ่งช่วยให้เรารับรู้ถึงพื้นฐานกิจการได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งรายรับรายจ่ายต่าง ๆ

(2) นโยบายการจ่ายเงินปันผล
ในแต่ละบริษัทจะมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่แตกต่างกัน เช่น ไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิ หรือ ไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรสุทธิ ฯลฯ  ซึ่งตรงส่วนนี้สามารถดูได้จากเวบไซต์ www.set.or.th หรือ www.settrade.com  ในส่วนของหัวข้อนี้จะยกเคสตัวอย่างนะครับ

 - บริษัท XYZ มีกำไรปี 2555 หุ้นละ 3 บาท  มีนโยบายจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 30% จากกำไร  ต่อมาบอร์ดบริหารบริษัท XYZ ประกาศให้จ่ายปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2555 ที่หุ้นละ 1.5 บาท ซึ่งคิดเป็น 50% จากกำไรต่อหุ้น ซึ่งเงินปันผลดังกล่าวมากกว่านโยบายที่กำหนดไว้
 - ในปี 2556 บริษัท XYZ มีกำไรต่อหุ้นเพิ่มเป็นหุ้นละ 4 บาท  และบอร์ดบริหารก็ประกาศเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 1.2 บาท ซึ่งจ่ายปันผลน้อยกว่าปีก่อนเสียอีกทั้ง ๆ ที่กำไรเพิ่มขึ้น แต่ก็ถือว่าจ่ายปันผลตามนโยบายคือจ่ายที่ 30%จากกำไรต่อหุ้น  

จากตัวอย่างดังกล่าวนักลงทุนจะต้องติดตามข่าวของบริษัทฯ ว่าที่จ่ายปันผลน้อยลงเพราะอะไร ต้องการนำเงินไปลงทุนขยายกิจการ หรือ แนวโน้มเศรษฐกิจไม่ดี หรือ กระแสเงินสดของบริษัทฯ ไม่ค่อยดีเท่าไหร่  หากพบความผิดปกติก็อาจจะต้องพิจารณาในหุ้นหรือบริษัทนั้น ๆ กันให้รอบคอบอีกครั้ง

** ทั้งนี้ระยะเวลาในการจ่ายปันผลแต่ละบริษัทฯ ก็ไม่เหมือนกัน บางที่จ่ายทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน และจ่ายปีละครั้ง   ยกตัวอย่างเช่น บริษัท XYZ ในปี 2556 จากตัวอย่างด้านบน สมมุติว่าใช้นโยบายการจ่ายปันผลทุก 6 เดือน (ทั้งปีจ่าย 2 รอบ)  รอบแรกอาจจ่ายเพียง 0.4 บาท แล้วรอบหลังค่อยจ่าย 0.8 บาท  (บริษัทฯรอดูผลประกอบการทั้งปี)


ทั้งนี้ขอจบ Part 1 ไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ แล้วจะรีบมาปั่น part ต่อไปครับ