วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

บันทึกต้นทุนการซื้อหุ้น




หากท่านได้อ่านหนังสือ "คัมภีร์หุ้นห่านทองคำ" ที่ผมเคยได้แนะนำก่อนหน้านี้จะเห็นวิธีบันทึกต้นทุนการซื้อหุ้นที่ผู้เขียนได้ทำขึ้นและแสดงตัวอย่างการซื้อหุ้นและวิธีคิดต้นทุนหากใครยังไม่ได้อ่านก็ไม่เป็นไรนะครับ  ที่ผมเกริ่นไปนั้นเพราะว่าวันนี้มีไฟล์ excel การบันทึกต้นทุนการซื้อหุ้นมาฝากครับ  วิธีบันทึกจะเหมือนกับในหนังสือเล่มดังกล่าว ซึ่งวิธีคิดนี้จะไม่เหมือนกับวิธีที่โบรกเกอร์คิดนะครับเพราะทางโบรกเกอร์ใช้วิธีคิดแบบ FIFO (First in, First Out)

ใครสนใจลองโหลดไปใช้ดูครับ แต่ผมต้องบอกก่อนนะครับว่าไฟล์นี้ผมไม่ได้เป็นคนทำเอง เคยมีคนทำแจกไว้ในอินเตอร์เน็ตไว้นานแล้วซึ่งผมก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นคนทำคนแรก  เพราะมีการส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ  แต่ไฟล์นี้ผมได้ปรับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ  ให้อัตราค่าคอมมิชชั่นตรงกับปัจจุบันที่เทรดด้วยอินเตอร์เน็ตมากที่สุด  และหากบัญชีหุ้นที่ท่านใช้อยู่มีค่าคอมมิชชั่นขั้นต่ำก็อย่าลืมใส่ตรงนั้นด้วย  หากใครสงสัยตรงไหนอย่างไร ถามไว้ในบล็อกนี้หรือที่แฟนเพจได้เลยนะครับ

ดาวน์โหลดไฟล์ตรงนี้ครับ >> Down Load

วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

การคัดกรองหุ้น และ หุ้นน่ากลัว



ในตลาดหลักทรัพย์มีบริษัทจดทะเบียนมากมาย ซึ่งหมายความว่ามีหุ้นให้เราเลือกลงทุนมากกว่า 500 ตัวขึ้นไป ซึ่งเป็นเรื่องยากในการจะทำความรู้จักกับทุกบริษัทหรือรู้จักกับหุ้นทุกตัว ดังนั้นการคัดกรองหุ้นเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกหุ้นเพื่อการลงทุน

หลัก ๆ ในการคัดกรองหุ้นเบื้องต้นได้แก่
1. ต้องรู้ว่าเราต้องการลงทุนในธุรกิจกลุ่มไหน อาทิ กลุ่มธนาคาร, กลุ่มสื่อสาร
2. พิจารณาผลประกอบการต่างๆ ของบริษัทในกลุ่มธุรกิจนั้น โดยดูได้จาก รายงานประจำปี, รายงานผลประกอบการซึ่งหาข้อมูลได้จากบริษัทนั้นๆ หรือ www.set.or.th  , www.settrade.com
3. ศึกษาถึงผู้บริหารว่ามีวิสัยทัศน์อย่างไรมีแผนการทำธุรกิจอย่างไร ซึ่งส่วนมากมักจะอยู่ในรายงานประจำปี  หรือรายงานการประชุมประจำปี ซึ่งหาข้อมูลได้ตามข้อ 2
4. หลีกเลี่ยงหุ้นน่ากลัว ซึ่งจะอธิบายในย่อหน้าถัดไป
5. พิจารณาราคาที่เหมาะสมและรอโอกาสในการซื้อ

หุ้นน่ากลัว หมายถึงหุ้นที่ไม่น่าเข้าไปลงทุนด้วย เพราะมักจะเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงที่จะขาดทุน ซึ่งหุ้นดังกล่าวที่ควรหลีกเลี่ยงคือ
1. หุ้นปั่น คือ หุ้นที่มีคนพยายามสร้างข่าวดีต่างๆ ออกมาให้ข่าวอยู่เป็นประจำเพื่อดันราคาหุ้นให้ไปสูงๆ เพื่อที่คนสร้างราคาจะได้เทขายหุ้นออกมาในราคาที่ต้องการ ซึ่งหลังจากเทขายราคาหุ้นจะตกอย่างรวดเร็ว
2. หุ้นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล เพราะมีโอกาสที่บริษัทจะได้งานหรือไม่ได้งาน ผลประกอบการไม่แน่นอน คาดเดายาก
3. หุ้นที่มีสหภาพแรงงาน
4. หุ้นในธุรกิจตะวันตกดิน หมายถึง หุ้นที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่กำลังถดถอย
5. หุ้นที่มีผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการมีลักษณะปกปิดบัญชีหรือพยายามตกแต่งบัญชีต่างๆ เพื่อให้ผลประกอบการเป็นไปตามที่ต้องการ  ข้อนี้อาจเช็คลำบากต้องอาศัยการติดตามข่าวสารต่างๆ และอ่านงบการเงินย้อนหลัง (อ่านหมายเหตุประกอบงบการเงิน)

ทั้งนี้หุ้นน่ากลัวไม่ใช่หุ้นที่ซื้อไม่ได้นะครับ สามารถซื้อได้ถ้าท่านเข้าใจกิจการของตัวหุ้นนั้นเป็นอย่างดี แต่ด้วยที่บล็อกนี้นำเสนอการซื้อหุ้นลงทุนสำหรับคนมีรายได้น้อยหรือมนุษย์เงินเดือน คงเป็นการยากในการติดตามข่าวตลอดเวลาและต้องมานั่งวิเคราะห์อะไรที่ยากเกินไปกับการซื้อหุ้นน่ากลัว

วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557

อดทนรอซื้อหุ้นที่หมายปอง



ปัญหาใหญ่ของคนซื้อหุ้นทั่วไปก็คือ “ซื้อหุ้นในราคาที่แพง” ซึ่งถ้าเราซื้อหุ้นในราคาที่สูงจนเกินไปก็จะให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร เช่น เงินปันผลเมื่อเทียบกับเงินลงทุน, กำไรจากส่วนต่างของราคาซื้อขาย  ฯลฯ  และก็มักจะมีปัญหาอีกอย่างหนึ่งตามมาอีกนั่นก็คือ “แล้วควรซื้อหุ้นราคาไหน” ซึ่งผมบอกได้เลยว่าไม่รู้ครับ เพราะราคาที่แต่ละคนยอมรับได้ไม่เหมือนกันและวิธีการหาราคาที่หุ้นที่เหมาะสมของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน  แต่จากโพสต์ก่อนหน้าที่ผมแนะนำหนังสือหุ้นเบื้องต้นให้อ่านก็จะมีในส่วนของการประเมินราคาหุ้นอยู่บ้างแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปนักลงทุนก็มักจะดูราคาหุ้นเทียบกับ P/E P/BV ROE D/E และอัตราส่วนการเงินต่าง ๆ ที่เกียวข้อง ซึ่งอัตราส่วนตรงนี้ยังไม่ขอพูดเจาะลงไป ขอไว้พูดถึงในโพสต์ต่อๆ ไปครับ

เมื่อได้ราคาหุ้นที่เหมาะสมแล้วลำดับต่อไปของนักลงทุนนั่นก็คือ รอให้ราคาหุ้นตกลงมาเท่ากับราคาที่เราได้ประเมินราคาไว้ (แต่ถ้าราคาปัจจุบันอยู่ในราคาที่เราประเมินไว้แล้ว ก็ซื้อได้เลยนะครับ อาจจะทยอยซื้อบางส่วนก่อนก็ได้)  ในส่วนของการรอไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าต้องรอนานแค่ไหนแต่เราก็ควรติดตามเป็นระยะๆ และคอยประเมินราคาหุ้นทุกไตรมาสตามรอบผลประกอบการเพื่อจะได้ดูแนวโน้มกิจการนั้นๆ ว่าตรงกับที่เราคิดไว้หรือไม่  นักลงทุนเก่งๆ หลายคนสามารถอดทนรอให้ราคาหุ้นตกลงมาตามราคาที่ประเมินไว้ได้ถึง 2-3 ปีเลยทีเดียว (บางคนก็นานกว่านี้อีกนะ)


คำถามที่จะมีต่อมาก็คือ “แล้วถ้าราคามันไม่ลงมาให้ซื้อเลยล่ะ” คำตอบก็คือ

1.รอต่อไปหรือไม่ก็ดูหุ้นตัวอื่นที่น่าสนใจกว่า (แต่หุ้นตัวเดิมก็ยังคงต้องติดตามอยู่นะ) แต่โดยปกตินักลงทุนมักจะมีหุ้นอยู่ในใจหลายๆ ตัวอยู่แล้ว ตรงนี้ก็ให้พิจารณาซื้อหุ้นที่มีราคาลงมาถึงราคาที่เราประเมินไว้

2.หุ้นแต่ละตัวที่หมายปองไว้ราคาก็ยังแพงมากไม่ลงมาสักที ซึ่งข้อนี้ก็คงต้องถือเงินสดไว้ในพอร์ตต่อไป (อย่าลืมฝากเงินเข้าพอร์ตหุ้นทุกเดือนนะ เป็นการออมในตัว)  แม้การถือเงินสดไว้ในพอร์ตจะไม่ได้อะไรแต่อย่างน้อยเราก็ได้ดอกเบี้ยจากโบรกเกอร์นะครับ ตามอัตราที่โบรกเกอร์นั้นๆ ได้ประกาศออกมาซึ่งทั่วไปมักจะมากกว่าอัตราดอกเบี้ยฝากออมทรัพย์ที่ธนาคารซะอีก  แต่ดอกเบี้ยที่ได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ซึ่งเราสามารถขอเครดิตคคืนภาษีได้ปลายปีตอนยื่นแบบเสียภาษีฯ  ส่วนดอกเบี้ยที่ได้รับโบรกเกอร์จะโอนเงินเข้าพอร์ตหุ้นเราอัตโนมัติครับ แล้วจะมีจดหมายแจ้งหลังจากนั้นประมาณ 1 อาทิตย์



จากที่กล่าวมาทั้งหมดอยากจะบอกว่าการลงทุนก็เหมือนการตกปลา ท่านต้องใจเย็นและอดทนรอและยิ่งด้วยข้อจำกัดของเงินที่เราจะซื้อหุ้นยิ่งต้องอดทนเป็นอย่างยิ่ง และผมขอฝากคำคมจากเซียนนักลงทุนหุ้นไว้ว่า “ซื้อหุ้นดีในราคาที่เหมาะสม ดีกว่าซื้อหุ้นดีเลิศในราคาที่แพง”

วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

มีเงินน้อยก็ซื้อหุ้นได้



สำหรับพอร์ตหุ้นมนุษย์เงินเดือนที่ใช้การฝากเงินเข้าพอร์ตทุกเดือนตามกำลังทรัพย์ อาจจะแค่ไม่กี่พันบาทต่อเดือน ทำให้มีข้อจำกัดในการซื้อหุ้นหลาย ๆ ตัวที่มีราคาต่อหุ้นสูง (ราคาหุ้นสูงไม่ใช่แปลว่าหุ้นแพงนะครับ) เช่น คุณมีเงินฝากเข้าไปในพอร์ตหุ้นเดือนละ 2,000 บาท  แต่หุ้น X ที่คุณอยากซื้อมีราคาต่อหุ้นที่หุ้นละ 50 บาท  ซึ่งในการซื้อขายหุ้นปกติต้องซื้อขั้นต่ำที่ 100 หุ้นดังนั้นถ้าคุณจะซื้อหุ้น X คุณก็ต้องมีเงินอย่างน้อย 5,009 บาท (รวมค่าคอมมิชชั่นและภาษี) 

ดังนั้นคุณมีทางเลือกในการซื้อหุ้น X ได้อยู่ 2 วิธี คือ
1) ทยอยฝากเงินเรื่อย ๆ ให้จำนวนเงินในพอร์ตเพียงพอต่อการซื้อ 100 หุ้นแล้วค่อยซื้อ
2) ซื้อเป็นเศษหุ้น จากตัวอย่างหุ้น X ราคา 50 บาท คุณมีเงินในพอร์ตจากการเติม 2,000 บาท คุณก็กดคำสั่งซื้อขายไปที่ 35 หุ้น  ซึ่งคำสั่งนี้จะไม่โชว์ในกระดานซื้อขายปกติ แต่จะไปโชว์ในกระดานซื้อขายเศษหุ้น ซึ่งบางโบรกเกอร์มีกระดานซื้อขายให้ดูแต่บางโบรกเกอร์ก็ไม่มี แต่สามารถส่งคำสั่งซื้อขายเศษหุ้นได้เหมือนกัน ถ้ามีพอร์ตบัวหลวงก็ดูกระดานเศษหุ้นได้เลย

ข้อดีและข้อเสียจากสองวิธี้


ทยอยฝากเงินแล้วซื้อทีละ 100 หุ้น
ซื้อเป็นเศษหุ้น
ข้อดี
ซื้อได้ง่ายตามราคาตลาด ณ วันที่ทำการซื้อ
ตั้งคำสั่งซื้อล่วงหน้าก่อนตลาดเปิดได้
 ซื้อได้ตามจำนวนเงินที่มีอยู่ในพอร์ต
ข้อเสีย
ราคาหุ้น ณ วันที่ซื้ออาจปรับตัวสูงขึ้นไปมาก
ซื้อได้ยากและราคาที่ซื้ออาจแพงกว่าราคาตลาด
ไม่สามารถส่งคำสั่งซื้อล่วงหน้าก่อนตลาดเปิด


ภาพตัวอย่างจากการซื้อเศษหุ้นครับ ซึ่งในภาพเป็นเมลคอนเฟิร์มซื้อขายประจำวันของหลักทรัพย์ทิสโก้